ทำความรู้จักกับ “อาการเพลงติดหู” หรือ “Earworm”

เพลง

คิดว่าทุกคนต้องเคยเป็นอาการที่เรามักจะร้องเพลงเดิมๆ ท่อนซ้ำๆ อยู่เสมอ เพราะได้ยินเสียงเพลงนี้อยู่ในหัวตลอดเวลา เจ้าอาการนี้ เรียกว่า Involuntary Musical Imagery (INMI) หรือ Earworm นั่นเอง ดังนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักกับเจ้า Earworm หรืออาการเพลงติดหูกันให้มากขึ้นเลยดีกว่า

อาการเพลงติดหูคืออะไร?

อาการเพลงติดหู (Earworms) หรือ Involuntary Musical Imagery ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับเพลงที่กำลังเป็นกระแส สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ที่มีความจำดี และผู้มีภาวะย้ำคิดย้ำทำ รวมถึงคนที่มีจิตใจอ่อนไหว อาการนี้จะเป็นอยู่เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง ร้องวนอยู่ในหัว พบมากในชาวตะวันตกถึง 98% อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่กลับไม่รู้สึกว่ามีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญ และทำให้นอนไม่หลับเท่านั้นเอง

สาเหตุของอาการเพลงติดหู

เพลงติดหู เกิดจากความพยายามของสมองที่จะเติมเต็มช่องว่างในส่วนที่ทำหน้าที่รับการได้ยิน (Auditory cortex) ซึ่งอยู่บริเวณสมองส่วนขมับ (Temporal lobe) โดยเมื่อได้ยินเพลงใดเพลงหนึ่งวนไปเวียนมาหลายครั้ง สมองจะส่งข้อมูลเสียงไปเก็บไว้ในระบบความจำระยะสั้นที่ Phonological loop ซึ่งอยู่ใน Auditory cortex สิ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะ เพลงติดหู ได้แก่ เพลงที่ฟังล่าสุด เพลงที่ได้ยินซ้ำ ๆ รวมถึงเพลงที่ได้ยินขณะเครียด หรือเพลงที่เชื่อมโยงถึงเหตุการณ์หรือความทรงจำในอดีต 

นอกจากนี้ การศึกษาของเคลลี จาคูโบว์สกี้ (Kelly Jakubowski) นักจิตวิทยาดนตรี ยังพบอีกว่า คุณสมบัติของเพลงที่มีแนวโน้มจะติดหู มักเป็นเพลงที่มีความโดดเด่นกว่าเพลงอื่น ๆ มีท่วงทำนองเป็นเอกลักษณ์ และเป็นเพลงที่ร้องง่าย โดยเฉพาะเนื้อเพลงที่มีท่อนฮุกร้องซ้ำๆ ย้ำๆ ซึ่งทำให้ผู้ฟังจดจำได้แค่ท่อนฮุก สมองจึงพยายามหาทางออกจากท่อนฮุกนั้นให้ได้ แต่กลับกลายเป็นคิดวนเวียนอยู่แต่ท่อนฮุกเดิม ๆ นั้น

Earworm ไม่ใช่โรคแต่เป็นเพียงอาการหนึ่งเท่านั้น

Earworm คืออาการเพลงติดหูเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น โดยบางคนอาจมีอาการ Earworm 1-2 ชั่วโมง หรือในช่วงที่สมองว่าง ๆ อาจฮัมเพลงนั้นอยู่ในใจเป็นวันก็ได้ ทว่าอาการ Earworm จะไม่อยู่กับเรานาน หากมีสิ่งที่น่าสนใจ สมองมีเรื่องที่ต้องคิดอะไรอย่างจริงจัง เพลงที่ติดหูอยู่นั้นก็จะหายไปสักพัก และอาจจะไม่กลับมาวนเวียนในสมองอีกเลย เพราะในแต่ละวันสมองเราต้องคิด ต้องทำงาน รวมทั้งมีความสนใจในเรื่องต่าง ๆ มากมาย ดังนั้นใครที่มีอาการ Earworm ก็ไม่ต้องกังวล สักพักก็สลัดเพลงนี้ออกจากหัวและหูได้

วิธีแก้อาการเพลงติดหู 

  1. หลีกเลี่ยงการฟังเพลงก่อนเข้านอน เนื่องจากภาวะเพลงติดหูอาจส่งผลให้นอนไม่หลับ
  2. พยายามอย่าฟังเพลงซ้ำบ่อยๆ โดยเฉพาะเพลงที่มีทำนองชวนติดตาม และเนื้อร้องที่ร้องง่ายและน่าสนใจ
  3. ฟังเพลงจนจบ เพื่อเป็นการการเติมช่องว่างในสมองให้เต็ม การฟังเพลงครึ่ง ๆ กลาง ๆ ส่งผลให้เกิดเซกานิกเอฟเฟ็กต์ (Zeigarnik effect) ทำให้สมองพยายามคิดวนเวียน
  4. เคี้ยวหมากฝรั่ง เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ง่าย จากทฤษฎีที่บ่งบอกว่าขณะขยับขากรรไกรมีส่วนทำให้ความสามารถทางดนตรีลดลง
  5. อย่าพยายามควบคุมความคิดมากเกินไป อาจส่งผลตรงกันข้าม ยิ่งทำให้สมองวนเวียนอยู่กับเพลงเดิมๆ ท่อนซ้ำๆ จนยากจะสลัดออกจากหัว
  6. เดินเร็วหรือช้ากว่าจังหวะของเพลง โดยใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายรบกวนหน่วยความจำที่บันทึกจังหวะดนตรีเพื่อหยุดการเล่นซ้ำอัตโนมัติ
  7. เบี่ยงเบนความสนใจ ด้วยการทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการหมกมุ่นกับเพลงติดหู

อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าอาการเพลงติดหูนี้ไม่ใช่โรค แต่เป็นเพียงอาการหนึ่งที่สามารถเกิดได้กับทุกคน และสามารถหายได้เองในเวลาที่ไม่นาน แต่หากอาการเป็นนานกว่า 24 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย เนื่องจากอาการเพลงติดหูอาจเป็นผลกระทบจากโรคเกี่ยวกับระบบสมอง

You Might Also Like